สะพานลาดกระบังถล่ม มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 3 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 4 ราย และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย ส่งผลทำให้สภาพจราจรติดขัดอย่างหนัก เหตุเกิดช่วงเย็นของวันที่ 10 กรกฎาคม ผู้ว่ากทม. นายชัชชาติ เข้าตรวจที่เกิดเหตุ พร้อมเร่งเคลียร์เศษซากคาดว่าต้องใช้สักเวลา 3-4 วัน ต้องปิดการจราจรบางส่วน ซึ่งเหตุการณ์สะพานลาดกระบังถล่มครั้งนี้สร้างความตกใจและสะเทือนใจเป็นอย่างมาก

สะพานลาดกระบังถล่ม เจ็บ 7 ตาย 2

จากกรณีเกิดเหตุสะพานลาดกระบังถล่ม ที่ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้าง “ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง” ส่งผลทำให้สภาพจราจรบริเวณจุดเกิดเหตุติดขัดอย่างหนัก มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 3 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 4 ราย และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย

วันที่ 10 ก.ค.2566 เวลา 18.08 น. รับแจ้งจากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดกระบัง เกิดเหตุคานสะพานโครงการก่อสร้างทางยกระดับลาดกระบัง ทรุดตัว ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดกระบังถึงที่เกิดเหตุ

เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 3 คน เล็กน้อย จำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่ลำเลียงส่งโรงพยาบาลแล้ว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ปิดการจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ แนะประชาชนเลี่ยงใช้การจราจรบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 คน และมีผู้บาดเจ็บ และรถที่ยังติดอยู่ใต้ซากแผ่นปูน ซึ่งแผ่นปูนที่ถล่มลงมามีน้ำหนักประมาณ 10 ตัน

ด้าน อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุสะพานลาดกระบังถล่ม โดยผู้บาดเจ็บทั้ง 7 คน เจ้าหน้าที่ได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตเบื้องต้นมี 1 คน

โดยเจ้าหน้าที่กันพื้นที่ไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ เนื่องจากไม่มั่นใจความปลอดภัยของโครงสร้างการก่อสร้างหวั่นจะทรุดตัวเพิ่มเติม ซึ่งระยะทางที่ทรุดตัวประมาณ 100 เมตร ทั้งนี้มีรถยนต์ที่โดนทับแบบแพนเค้กแต่ไม่ยืนยันว่ามีคนติดอยู่ภายในรถหรือไม่

ไทม์ไลน์ 18 ชั่วโมงเหตุสะพานลาดกระบังถล่ม

ไทม์ไลน์ 18 ชั่วโมงเหตุการณ์สะพานลาดกระบังถล่ม ล่าสุดเริ่มมีการตัดย้ายชิ้นส่วนออกจากจุดเกิดเหตุ พร้อมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตความล่าช้าในการก่อสร้างกับงบที่สูงถึง 1,600 ล้านบาท

10 ก.ค.2566

  • 18.10 น. ศูนย์พระราม 199 แจ้งเหตุเกิดเหตุสะพานข้ามแยกทรุดตัว บริเวณ หน้าโลตัส ลาดกระบัง
  • 18.20 น. กู้ภัยเข้าพื้นที่เกิดเหตุ พบความเสียหายวงกว้างสะพานทรุดตัวระยะทางเกือบ 500 เมตร เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 4 คน
  • 18.45 น. โซเชียลเปิดภาพนาทีสะพานลาดกระบังถล่ม
  • 19.00 น. ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบ ญาติแรงงานและผู้เจ็บทยอยเดินทางมาจุดเกิดเหตุ หลังยืนยันพบ 1 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุแต่ยังนำร่างออกจากซากสะพานไม่ได้ จึงได้แต่กอดคอร้องไห้
  • 20.00 น. นายสุชชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รีโพสต์เนื้อหาที่ได้เคยโพสต์ไว้เมื่อ 19 ส.ค.2565 ตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่ปลอดภัยของการก่อสร้าง
  • 21.40 น. เอกสารโครงก่อสร้างถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ พบว่าทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยสำนักการโยธา กทม. ระยะทาง 3,500 เมตร และกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน สิ้นสุดสัญญา ส.ค.นี้
  • 21.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้าตรวจสอบพื้นที่ตั้งศูนย์บัญชาการ กำชับ ดูเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เบื้องต้นระบุสาเหตุข้อผิดพลาดอาจมาจากความผิดพลาด Launcher หรือตัวยึดด้านบนเสียหลัก เป็นต้นเหตุดึงเครนและสะพานถล่มครืน เบื้องต้นต้องรีบเคลียร์ซากโครงเหล็กบางส่วน เพื่อเปิดการจราจรบางส่วน
  • 22.00 น. ชัชชาติ ยืนยัน ผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 10 คน สั่งเร่งเคลียร์ซากบางส่วน และแนะนำเส้นทางเลี่ยงการจราจรพื้นที่จรเข้น้อย-ลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทำงาน

11 ก.ค.2566

  • 04.50 น. จส.100 ตรวจสอบสถานการณ์เพิ่มเติม คู่สายดารา 48 มูลนิธิร่วมกตัญญู เพิ่มเติมว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกมาหมดแล้ว จะปฏิบัติการในช่วงเช้านี้ (11 ก.ค.66) ซึ่งตอนนี้ยังปิดการจราจร ถ.หลวงแพ่ง ขาเข้า
  • 07.00 น. บรรยากาศช่วงเช้าชาวบ้านยังคงออกทำงานและสัญจรในพื้นที่เส้นทางที่มีสะพานถล่ม ชาวบ้านบางคนเข้ามาสังเกตการณ์พื้นที่ ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบย้ายออกจากพื้นที่ห่วงเรื่องความปลอดภัย
  • 08.00 น. ดร.จอห์น พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง ระบุว่า เริ่มดำเนินการย้ายชิ้นส่วนเครน พร้อมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกท่าน
  • 10.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวกรณีเหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในพื้นที่เขตลาดกระบังถล่ม หลังจากลงพื้นที่ทันทีหลังเหตุการณ์
  • 10.30 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตั้งข้อสังเกต รายละเอียดของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกอ่อนนุช-ลาดกระบัง ระยะทาง 3.5 กม. ใช้งบ 1,660 ล้านบาท มีการขยายสัญญาเพิ่ม 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค.2567 ระบุคงต้องมีการตรวจสอบทั้งทางวิศวกรรม และการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง

“ชัชชาติ” ชี้เหตุผิดพลาดสะพานลาดกระบังถล่ม

วันที่ 11 ก.ค.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เปิดเผยในระหว่างการเข้าตรวจสอบสะพานลาดกระบังถล่ม เบื้องต้น พบว่าตัวในแปลนสะพาน “Launcher” หรือเป็นตัวที่ใช้ยึดคานสะพานชั่วคราวระหว่างก่อสร้าง แต่ “Launcher” เกิดการถล่มทำให้คานสะพานก็ถล่มลงมาด้วยหมดทำให้เกิดอุบัติเหตุ กระบวนการก่อสร้างสะพาน พบว่ามีการดึงลวดเพื่อร้อยโครงคอนกรีตให้ติดเป็นชิ้นเดียวกัน แต่เกิดความผิดพลาดขึ้น และ Launcher เสียหลักและดึงตัวสะพานถล่มลงมา

นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นการก่อสร้างสะพานมีการยกชิ้นส่วนกลางคืน แต่กลางวันจะดึงลวด เพื่อร้อยชิ้นส่วนในช่วงกลางวัน และน่าจะเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนนี้ทำให้เกิดการล้มของเครนนั่งโครงเหล็กด้านบน จึงดึงทุกสิ่งลงมาหมด ซึ่งโครงเหล็กมีน้ำหนักถึง 70 ตัน และด้านล่างเป็นคอนกรีตคานยาวที่ถล่มลงมา

สำหรับการเข้าเคลียร์เศษเหล็ก คานสะพานที่ถล่มลงมาจะวางแนวทางการเข้าตรวจค้นผู้ติดค้างภายในซากสะพานที่ถล่มลงมาโดยจะแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน สองฝั่งถนนหลวงแพ่ง ทั้งขาเข้าขาออก ก่อนที่จะใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าเคลียร์พื้นที่ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนมีน้ำหนักมากถึง 30-40 ตัน และคาดว่าต้องใช้สักเวลา 3-4 วัน ต้องปิดการจราจรบางส่วน

สะพานลาดกระบังถล่ม

ผัวเมียเล่านาทีชีวิตสะพานลาดกระบังถล่ม

จากเหตุการณ์สุดระทึกสะพานลาดกระบังถล่ม (10 ก.ค. 66) ทำให้หลายคนได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิต หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเก็บกู้ซากสะพานให้เร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาในการกู้ซากประมาณ 7 วัน

นายเผชิญ อายุ 46 ปี ขับรถปิคอัพอีซูซุ รุ่นดีแม็กซ์ สีขาว ทะเบียน 7กบ5257 กรุงเทพมหานคร มากับ น.ส.จำเนียร อายุ 44 ปี ภรรยา ผ่านมาขณะที่สะพานลาดกระบังถล่มจนรถได้รับความเสียหาย

นายเผชิญ กล่าวด้วยความระทึกว่า เมื่อวานช่วงเกิดเหตุตนขับรถออกมาจากการซื้อของในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่อยู่ติดกับสะพานลาดกระบังถล่ม เมื่อเลี้ยวรถออกมาได้เพียงไม่กี่วินาทีได้ยินเสียงดังจึงได้มองขึ้นไปเห็นสะพานลาดกระบังถล่มลงมา ตนพยายามเร่งเครื่องเพื่อต้องการที่จะให้พ้นจากแนวคานสะพานที่ถล่มแต่เครื่องรถเกิดดับ จากนั้นมีตอม่อสะพานขนาดใหญ่หล่นลงมาห่างจากหน้ารถตัวเองประมาณแค่เพียงไม่กี่เซนติเมตร และมีเศษเหล็กหล่นมาที่หลังคาของรถ และตนมองออกไปมีแต่ฝุ่นตลบอบอวลไปหมด จึงตัดสินใจพาภรรยาที่มาด้วยกันหนีออกมาจากรถ เข้าไปขอความช่วยเหลือในปั๊มน้ำมัน ที่อยู่ใกล้กับบริเวณจุดเกิดเหตุ

ตนยอมรับว่าหลังตั้งสติได้รู้สึกตกใจเป็นอย่างมากเพราะหากถ้าตนขับรถขึ้นหน้าเดินไปอีกแค่นิดเดียวก็อาจจะถูกต่อหม้อสะพานขนาดใหญ่ล้มทับทำให้ตนและภรรยาเสียชีวิตได้ทันที จึงคิดว่าการรอดตายของตนเพราะแขวนหลวงปู่ทวด วัดฉลอง จ.ภูเก็ต อยู่ที่คอติดตัวอยู่ตลอดเวลาเกือบ 10 ปี ส่วนภรรยาคล้องพระหลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท ส่วนพระที่แขวนไว้หน้ารถมีหลวงปู่สุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท หลวงพ่อทวด ตะกรุดหลวงพ่อเกิดวัดเขาดิน จ.ชัยนาท

สาเหตุตนคาดว่าเป็นความประมาทของผู้ที่ทำงานก่อสร้างจึงทำให้เกิดเหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ส่วนความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนเองได้ให้ประกันของรถเป็นผู้ดำเนินการ

ปิดจราจรเหตุสะพานลาดกระบังถล่ม

บช.น.ปิดการจราจรเส้นทาง ถ.หลวงแพ่ง (ฝั่งขาเข้า) ตั้งแต่หน้าห้างโลตัส ถึง สน.จรเข้น้อย แนะใช้ 6 เส้นทาง เหตุสะพานข้ามแยกทรุดตัว ความคืบหน้าเหตุสะพานลาดกระบังถล่มบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า ถนนหลวงแพ่ง ย่านลาดกระบัง

วันที่ 11 ก.ค.2566 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. แจ้งประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกเลี่ยงเส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและเคลียร์พื้นที่สะพานลาดกระบังถล่มแล้วเสร็จ โดยปิดการจราจรเส้นทาง ถ.หลวงแพ่ง (ฝั่งขาเข้า) ตั้งแต่หน้าห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสหลวงแพ่ง ถึงทางเข้า สน.จรเข้น้อย

บช.น.แนะนำประชาชนให้ใช้เส้นทาง ถ.ฉลองกรุง, ถ.คู่ขนานมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี สายใหม่, ถ.หลวงแพ่ง ฝั่งขาเข้า (ยกเว้นช่วงหน้าห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสหลวงแพ่งถึงทางเข้า สน.จรเข้น้อย), ถ.หลวงแพ่ง ฝั่งขาออก (ใช้งานได้ปกติ), ถ.โยธาธิการ, ถ.ลาดกระบัง​

ทั้งนี้ บช.น.ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้แก่พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในภาพรวม เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สอบถามข้อมูลเส้นทางเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ WW.TRAFFICPOLICE.GO.TH และ Facebook 1197

ชาวบ้านเข้าสังเกตการณ์สะพานลาดกระบังถล่ม

บรรยากาศช่วงเช้าหลังเหตุการณ์สะพานลาดกระบังถล่ม คนงานบางส่วนเข้ามาดูพื้นที่ ร้านค้าบางแห่งปิดชั่วคราว ส่วนผู้คนยังใช้ชีวิตประจำวันออกทำงาน ชาวบ้านบางส่วนมาสังเกตการณ์ ตลอดทั้งคืนเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานแข่งกับเวลา และประเมินรื้อถอนโครงเหล็กออก

สำหรับสถานการณ์สะพานลาดกระบังถล่มในวันนี้ กทม. แนะนำให้ประชาชนวางแผนการเดินทาง โดยหาเส้นทางเลี่ยงไว้ก่อน เนื่องจากการกู้ซากโครงสร้างต้องใช้เวลา เพราะเป็นโครงสร้างชิ้นส่วนขนาดใหญ่ โดยทาง สน.จรเข้น้อย ได้แจ้งเส้นทางเลี่ยงการปิดการจราจร ดังนี้

  • ขาเข้าเมือง ปิดการจราจรเด็ดขาด ตั้งแต่หน้าเทสโก้โลตัสหลวงแพ่ง ถึง ทางเข้า สน.จรเข้น้อย
  • เส้นทางเลี่ยง มาตลาดหัวตะเข้ – ลาดกระบัง ขาเข้า
  • เข้า ซอยสหมิตร 2 , ซอยหลวงแพ่ง 6 , ซอยทางเข้าหมู่บ้านร็อคการเด้น มาออก ซอยหลวงแพ่ง 4 เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานหัวตะเข้
  • เลี้ยวขวาแยกวัดพลมานีย์ ออกคู่ขนานมอเตอร์เวย์ สามารถไปถนนลาดกระบัง ทางออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ ออกแอร์พอทลิ้งลาดกระบัง
  • เลี้ยวขวาแยกวัดพลมานีย์ เลี้ยวขวาคู่ขนานมอเตอร์เวย์ ออกถนนฉลองกรุง

ทั้งนี้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 11 ก.ค.นี้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ