ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ต่างดื่มอวยพรที่งานเลี้ยงรับรองในกรุงมอสโกเมื่อเย็นวันอังคารที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ภายหลังการหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเป็นเวลาสองวัน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ให้คำมั่นว่าจะสานสัมพันธ์กับพันธมิตรผู้สนับสนุนรัสเซียที่ทรงอำนาจที่สุดให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมกล่าวยกย่องข้อเสนอของจีนในการยุติสงครามในยูเครน

“บทบัญญัติหลายประการที่ปรากฏในแผนสันติภาพที่เสนอโดยจีนสอดคล้องกับแนวทางของรัสเซีย และสามารถใช้เป็นฐานในการยุติปัญหาได้ ทั้งนี้ เมื่อยูเครนและชาติตะวันตกมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าว” ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวแสดงความเห็นโดยละเอียดต่อร่างแผนดังกล่าว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยูเครนยังสงวนท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าว แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นของสหรัฐฯ ต่างได้ปฏิเสธข้อเสนอของจีน เนื่องจากเห็นว่ามีความโน้มเอียงไปทางฝั่งรัสเซีย แต่ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นความพยายามที่มุ่งหวังผลอย่างยิ่งของจีนที่จะหาทางยุติสงครามที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาแรมปี โดยประธานาธิบดีปูติน ระบุว่าประธานาธิบดีสีได้หารือเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้โดยละเอียดระหว่างการหารือแบบตัวต่อตัวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ในเวลาต่อมา ผู้นำทั้งสองได้กล่าวยกย่องความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศว่ากำลังเข้าสู่ “ยุคใหม่” โดยประเทศทั้งสองจะเป็นแนวร่วมแก่กัน ขณะที่ประธานธิบดีปูตินกล่าวหาว่าชาติตะวันตกได้ปฏิเสธข้อเสนอของจีนเพื่อยุติความขัดแย้งในยูเครน

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะจำกัดอำนาจของชาติตะวันตก โดยได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายอำนาจขององค์การนาโต้ในภูมิภาคเอเชีย และตกลงที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินเปิดฉากการรบในประเทศยูเครน

ข้อเสนอจุดยืน ๑๒ ประการของจีนเกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครน ครอบคลุมถึงการเรียกร้องให้มีการเจรจาและเคารพอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของทุกประเทศ ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยูเครนได้เชิญจีนเข้ามาร่วมหารือและจนบัดนี้ ก็ยังคงรอคำตอบจากรัฐบาลจีน

‘ความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัด’
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัสเซียและจีนต่างพัฒนาเพิ่มพูนความร่วมมือกันมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายต่างได้รับแรงขับเคลื่อนจากความพยายามที่จะถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ การเยือนมอสโกของผู้นำจีนถูกมองว่าเป็นการส่งเสริมการกระทำของปูติน ซึ่งอยู่ภายใต้หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหากระทำการส่งเด็กชาวยูเครนกลับประเทศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างรัสเซียและจีนมีความเป็นไปได้และโอกาสที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง” ปูตินกล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำหลังการหารือ และได้ดื่มอวยพรให้กับ “ความเจริญรุ่งเรือง” ของประชาชนชาวรัสเซียและจีน ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีปูตินได้เน้นย้ำถึง “ความพิเศษ” ของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ

ในวันที่สองของการเยือนมอสโก ประธานาธิบดีสี ได้กล่าวว่าความสัมพันธ์กับรัสเซียกำลัง “เข้าสู่ยุคใหม่” ประธานาธิบดีปูตินเรียกการเจรจาว่า “เต็มไปด้วยความหมายและจริงใจ” และกล่าวว่ารัสเซีย ซึ่งถูกตัดออกจากตลาดยุโรปเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากการคว่ำบาตร จะสามารถตอบสนอง “ความต้องการที่เพิ่มขึ้น” สำหรับพลังงานของจีน

ประเด็นเรื่องพลังงานเป็นประเด็นสำคัญของการเดินทางเยือนของประธานาธิบดีสี และประธานาธิบดีปูตินประกาศว่าทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับท่อส่งก๊าซ Power of Siberia 2 ซึ่งจะเชื่อมต่อไซบีเรียกับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

สหรัฐฯ ‘บั่นทอน’ ความมั่นคงโลก

ในแถลงการณ์ร่วม ผู้นำทั้งสองมุ่งเป้าไปที่ชาติตะวันตก โดยกล่าวหาว่าสหรัฐฯ กำลังบ่อนทำลายความมั่นคงของโลก “พวกเราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการบ่อนทำลายความมั่นคงระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ และเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ของโลก เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการทหารฝ่ายเดียวของตน” แถลงการณ์ร่วมระบุ

การโจมตียูเครนของรัสเซียยังยิ่งเพิ่มความกลัวในหมู่มหาอำนาจตะวันตกว่า วันหนึ่งจีนอาจพยายามเข้าควบคุมเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเอง ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตน จีนพยายามแสดงท่าทีเป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งภายในยูเครน แต่สหรัฐฯ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของจีนอาจเป็น “กลยุทธ์ถ่วงเวลา” เพื่อช่วยเหลือรัสเซีย และยังกล่าวหาจีนว่ากำลังพิจารณาส่งออกอาวุธไปให้แก่รัสเซีย ซึ่งจีนปฏิเสธอย่างแข็งขันว่ามิได้เป็นเช่นนั้น

การเดินทางของประธานาธิบดีสี อยู่ในห้วงเวลาใกล้เคียงกับการเยือนกรุงเคียฟของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งเดินทางไปเยือนเมือง Bucha เมืองที่กองกำลังรัสเซียถูกกล่าวหาว่ากระทำการทารุณโหดร้ายระหว่างการเข้ายึดครองเมื่อปีที่แล้ว
“การหารือกับนายคิชิดะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวในคำแถลงการณ์ช่วงค่ำ
“ผมยังได้รับฟังถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะทำงานร่วมกับเราเพื่อขับเคลื่อนระเบียบโลก เพื่อป้องกันภัยจากการรุกราน และเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากรัสเซีย” นายเซเลนสกีกล่าว

นายคิชิดะ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม G7 คนสุดท้ายที่เดินทางเยือนประเทศนี้ ได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นให้ต้องเดินทางไปเยือนยูเครน เนื่องจากญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดของกลุ่มในเดือนพฤษภาคมนี้
นายเซเลนสกี ยืนยันเมื่อวันอังคารว่าจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ผ่านช่องทางออนไลน์
นายเอแวน เฟเกนบาม อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ Carnegie Endowment for International Peace เขียนในบทความว่า จีนได้รับแรงสนับสนุนในการดำเนินกิจการต่างๆ ของตนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ที่มีส่วนได้เสียจากสงครามยูเครนไม่มาก อาทิ ประเทศบราซิล

การทูตของจีนสามารถมีส่วนผลักดันให้ได้รับแรงสนับสนุนส่วนมากในภูมิภาคยุโรปไม่มากก็น้อย และจีนก็ไม่มีความคิดที่จะโน้มน้าวสหรัฐฯ ให้คล้อยตามแต่อย่างใด “รัฐบาลจีนจะมองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่แยแสต่อการดำเนินการทางการทูตใดๆ ของจีน โดยมองว่าทุกอย่างเป็นการแสดงละครของจีน” นายเฟเกนบามระบุ “แต่ชาวอเมริกันไม่ใช่ผู้รับชมของจีน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงไม่ค่อยสนใจว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะคิดอย่างไรต่อการดำเนินการของจีน”

ที่มาของข่าว : https://www.bangkokpost.com/world/2533745/xi-and-putin-hail-new-era

 

ติดตามข่าวรอบโลกได้ที่  ocinternetadvertising.com